ปัญหายอดฮิตอันดับหนึ่งที่คุณผู้หญิงมาพบแพทย์ผิวหนังเห็นจะเป็น การแพ้เครื่องสำอาง
หลายคนจึงเลือกยอมลงทุนซื้อเครื่องสำอางราคาแพง ถึงแพงมากๆ มาใช้ ด้วยคาดหวังว่าจะหลบเลี่ยงการแพ้ไปได้ เพราะมั่นใจว่าอย่างน้อยคุณภาพน่าจะสมราคา แต่เรื่องอย่างนี้มิอาจคาดเดาได้ครับ เพราะผิวของแต่ละคนแตกต่างกัน ซึ่งอาจแพ้สารประกอบไม่เหมือนกันก็ได้ บางคนใช้เครื่องสำอางราคาแพง เกิดอาการแพ้ พอลองใช้ที่ราคาถูกลงอาจจะดีกว่าก็เป็นได้ครับ
ปัญหาจากเครื่องสำอางจริงๆแล้วส่วนมากเป็นการระคาย เคืองมากกว่าการแพ้ แต่การที่แพทย์ผิวหนังจะให้การวินิจฉัยว่าเป็นการระคายเคืองหรือไม่นั้นต้อง อาศัยการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และการทดสอบภูมิแพ้โดยการปิดบนผิวหนัง (Patch test) แล้วดูว่าเป็นการแพ้หรือเปล่าเสียก่อน เพราะเหตุว่าการทดสอบการระคายเคืองทางตรงยังไม่มีครับ
คุณผู้หญิงที่มีปัญหาผิวเพราะเครื่องสำอางจนต้องมาพบ แพทย์ผิวหนัง จากประสบการณ์ผมที่พบเป็นประจำ มีอยู่สองลักษณะ คือ เข้ามาหาหมอพร้อมกับเครื่องสำอาง 1 ชิ้น / กล่อง หรือเป็นตระกร้า(จริงๆ ครับ) แล้วมาบอกว่ามีผื่นแดงขึ้น คัน ที่หน้า หรือตามร่างกาย ที่สำคัญเธอมักจะบอกว่าไม่ทราบว่าเป็นมาจากชิ้นไหนจนต้องมาพึ่งแพทย์ให้ช่วย พิสูจน์ว่าเป็นตัวใดกันแน่
อีกแบบคือมาพร้อมกับผื่นที่หน้าหรือ ร่างกายเป็นเครื่องยืนยัน ซึ่งผมสงสัยว่าจะเกิดจากเครื่องสำอาง แต่ถ้าตอนแรกลองถามว่าใช้เครื่องสำอางหรือเปล่า ก็มักจะตอบว่าเปล่า แต่ถ้าถามว่าใช้ไนท์ครีม เดย์ครีม ครีมกันแดด แป้งรองพื้น ฯลฯ หรือเปล่า เธอก็จะตอบว่า "ใช้ค่ะ ใช้ค่ะ ใช้ค่ะ" จนผมอดสงสัยไม่ได้ว่าทำไมถามตอนแรกถึงบอกว่าไม่ใช้ เธอก็ตอบว่า "ไม่คิดว่ามันเป็นเครื่องสำอาง คิดว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นค่ะ" ผมก็เลยถึงบางอ้อเลยครับ
ผมว่าก่อนอื่นเรามาดูความหมายของ “เครื่องสำอาง” กันดีกว่าครับ ตามพระราชบัญญัติเครื่องสำอางปี 2535 ให้หมายความไว้ว่า
“วัตถุที่มุ่งหมายสำหรับใช้ทา ถู นวด โรย พ่น หยอด ใส่ อบ หรือกระทำด้วยวิธีอื่นใดต่อส่วนหนึ่งส่วนใดของร่ายกายเพื่อความสะอาดความสวย งาม หรือส่งเสริมให้เกิดความสวยงาม และรวมตลอดทั้งเครื่องประทินผิวต่างๆ ด้วย แต่ไม่รวมถึงเครื่องประดับ และเครื่องแต่งตัวเป็นอุปกรณ์ภายนอกร่างกาย“
คุณจะเห็นว่าความหมายกว้างมากครับตั้งแต่ เครื่องแต่งหน้า ที่ผู้หญิงใช้ไปจนถึง สบู่ ยาสีฟัน แชมพูต่างๆ ด้วย แทบจะพูดได้ว่าทุกคนไม่ว่า เด็ก ผู้ใหญ่ ทั้งผู้หญิง ผู้ชาย และคนชราก็ต้องใช้เครื่องสำอางกันทั้งนั้นครับแท้ที่จริงแล้วปฏิกริยาต่อผิวหนังจากการใช้เครื่องสำอาง พบได้บ่อยพอสมควร แต่ส่วนมากคนที่ใช้แล้วอาจมีปัญหาเพียงเล็กน้อย ก็จะใช้วิธีเปลี่ยนเครื่องสำอาง โดยไม่ได้ไปพบแพทย์ มีการประมาณการณ์กันว่าปัญหาที่เกิดขึ้นมีอยู่ราว 0.21 % (หรือ 1 ใน 5,000 คน) การเกิดปัญหาอาจเกิดได้เพียงครั้งแรกที่ใช้เครื่องสำอาง หรืออาจใช้เวลาเป็นเดือนหรือเป็นปีแล้วจึงเกิดปัญหาก็ย่อมได้เช่นกัน
ถ้าผิวมีปัญหาจากเครื่องสำอางควรทำอย่างไร
- ถ้าสงสัยว่าเป็นเครื่องสำอางชิ้นใด เช่น เพิ่งซื้อมาใหม่ ก็ให้หยุดใช้ชิ้นนั้นแล้วกลับไปใช้ยี่ห้อเก่าที่เคยใช้แล้วไม่เป็นอะไร เครื่องสำอางยี่ห้อเดียวกันชนิดเดียวกันเมื่อเปลี่ยนขวดใหม่ก็อาจเกิดปัญหา ได้ เพราะผู้ผลิตอาจเปลี่ยนสูตร หรือคุณภาพของส่วนผสมไม่เหมือนเดิม
- ถ้าไม่ทราบว่าเป็นชิ้นใดก็ให้หยุดทุกชนิด แล้วไปพบแพทย์ผิวหนังเพื่อทำการทดสอบภูมิแพ้โดยการปิดบนผิวหนัง (Patch test)และควรนำเครื่องสำอางทุกชนิด พร้อมกล่อง (ถ้ามี) มาด้วย
ถ้าคาดว่าจะแพ้จากเครื่องสำอางที่ใช้ทาผิวหน้า คุณยังอาจใช้ลิปสติก ดินสอเขียนคิ้วได้ถ้าไม่เกิดผื่นบริเวณนั้นๆ หรืออาจเลือกใช้เครื่องสำอางบางชนิด (ที่เคยใช้แล้วไม่มีปัญหา)เช่น แป้งฝุ่น สบู่ หรือครีมบำรุงผิวที่ไม่มีน้ำหอมเป็นส่วนผสมได้
ค้นหาสาเหตุ
การ ที่แพทย์จะบอกได้ว่าคุณแพ้สารอะไรนั้นจำเป็นต้องมีการทดสอบภูมิแพ้โดยการปิด บนผิวหนัง (patch test ) โดยมีขั้นตอนอย่างย่อๆ ดังนี้ครับ
1. แพทย์จะปิดพลาสเตอร์ที่มีสารภูมิแพ้ (allergen) ไว้ที่หลังของผู้ป่วย (สมมติว่าวันจันทร์)
2. แพทย์จะนัดมาแกะพลาสเตอร์ออกพร้อมอ่านผลครั้งที่ 1 (วันพุธ) และอ่านครั้งที่ 2 (วันศุกร์)
3. ในระหว่างการทดสอบผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงภาวะที่มีเหงื่อออกมาก เช่น วิ่ง เล่นกีฬา หรือถูกแสงแดดมากๆ
4. ถ้าคุณกำลังตั้งครรภ์ ก็ไม่ควรทำการทดสอบชนิดนี้
5. ถ้าคุณได้รับยากลุ่มสเตียรอยด์ (ยารับประทานหรือยาฉีด) จะต้องหยุดยาอย่างน้อย 1-2 สัปดาห์
นอกจากนี้แพทย์ยังอาจให้ทดสอบผลิตภัณฑ์นั้นโดยตรง(ยกเว้น บางอย่างที่จะเกิดการระคายเคืองได้ง่ายเช่นสบู่ )ซึ่งเรียกว่า ROAT (Repeat Open Application Test ) โดยการทาผลิตภัณฑ์นั้นบน ท้องแขน ข้อพับแขน วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 1 สัปดาห์ ถ้ามีผื่นเกิดขึ้นก็แสดงว่าแพ้จริง (การทดสอบนี้อาจทดสอบกับผลิตภัณฑ์ที่สงสัยเองก็ได้)
สาเหตุสำคัญของการแพ้
สาเหตุที่ทำให้เกิดการแพ้มีหลายชนิด แต่ผมขอพูดถึงเพียงแค่ 2 ตัวที่พบบ่อยคือ
น้ำหอม (fragrance) ใน ปัจจุบันมีมากกว่า 5,000 ชนิด ที่ใช้ในเครื่องสำอางคำว่า "น้ำหอม" นี้ไม่ใช่หมายความถึงแค่ น้ำหอมที่เป็นสเปรย์ฉีดเท่านั้นนะครับ แต่ยังหมายรวมถึงน้ำหอมที่ใส่ลงไปในครีมบำรุงผิว สบู่ แชมพู ต่างๆ ด้วย เพื่อให้ผลิตภัณฑ์นั้นมีกลิ่นหอมน่าใช้ คนที่แพ้น้ำหอมควรใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็น "Fragrance-Free" หรือ "Without perfume" ไม่ควรใช้ชนิด "Unscented" เพราะยังอาจมีน้ำหอมอยู่เล็กน้อยได้ นอกจากนี้น้ำหอมบางชนิดยังอาจทำให้ผิวเกิดการแพ้ได้เวลาโดนแสงแดดเท่านั้น แต่ถ้าไม่โดนแดดก็ไม่เป็นไร
สารกันบูด (preservatives) เป็น สารที่พบบ่อยอีกตัวหนึ่งที่ทำให้เกิดการแพ้ สารดังกล่าวใส่เพื่อไม่ให้เครื่องสำอางเสีย ซึ่งในความเป็นจริงจึงเป็นไปได้ยากที่เครื่องสำอางจะไม่ใช้สารกันบูด เช่น บริษัทบางแห่งโฆษณาว่า เครื่องสำอางของตนเป็นชนิด Preservative-free แต่เมื่อดูรายละเอียดพบว่าผสม วิตามินอี ซึ่งเขาบอกว่าเป็นสารที่ช่วยบำรุงผิวแต่โดยความจริงแล้ว วิตามินอีก็ทำหน้าที่เป็นสารกันบูดชนิดหนึ่งด้วย (Antioxidant)
ส่วนคำว่า "hypoallergic" หรือ "แพ้น้อย" นั้นปัจจุบันผมถือว่าเป็นภาษาทางการตลาด(Marketing)เพราะแทบจะไม่มีความหมาย อะไรเลย ผลิตภัณฑ์บางอย่างที่เขียนว่าHypoallergic ผมหยิบขึ้นมาดมดูกลิ่นน้ำหอมแรงมาก?!? ดังนั้นคุณๆ ผู้บริโภคในโลกปัจจุบันคงต้องมีความรู้เท่าทันพอสมควรโดยเฉพาะคนไทย เพราะเวลาซื้อเครื่องสำอางแล้วไม่พอใจไม่สามารถเปลี่ยนได้บางชนิดบอกว่า เปลี่ยนได้ แต่กว่าจะยอมก็ซักถามอย่างกับเราเป็นจำเลย เสียทั้งเวลา เสียทั้งอารมณ์ ไม่คุ้มเหนื่อยครับ แต่สมัยที่ผมไปเรียนต่อที่ อเมริกาเราสามารถเปลี่ยนได้เลยโดยคนขายจะไม่ซักถามมากมาย ผมมีคนไข้สิงคโปร์เล่าว่าที่สิงคโปร์ก็เหมือนเมืองไทยที่ยังเปลี่ยนไม่ได้ " We're still Asian "
จะเห็นได้ว่าในปัจจุบัน เครื่องสำอางเป็นส่วนประกอบในชีวิตประจำวันของเราทุกคน โดยเฉลี่ยแล้วผู้ใหญ่ 1 คน จะใช้เครื่องสำอางประมาณ 7 ชนิดต่อวัน ลองนับดูซิครับจะพบว่าส่วนมากเกิน 7 ชนิดโดยเฉพาะคุณผู้หญิง ปัญหาจากการใช้เครื่องสำอางอาจมีเพียงเล็กน้อยจนถึงเป็นอันตรายมากได้ ถ้าปัญหาที่เกิดขึ้นเพียงเล็กน้อย ก็ลองใช้คำแนะนำที่ผมให้ดู แต่ถ้าไม่ดีขึ้นก็ควรไปพบแพทย์ผิวหนังดีกว่าครับ เพราะบางอย่างอาจฝากรอยจารึกไว้บนใบหน้าคุณยากลบเลือน เสียดแทงใจไปนานวันก็ได้…แล้วอย่าลืมหิ้วถุงหรือตระกร้า เครื่องสำอางไปด้วยนะครับ !!
ที่มาข้อมูล : นิตยสาร Health Today
read more